เมื่อปลายสิงหาคม 2508 ผมถูกตามตัวจากชุมนุมวรรณศิลป์ ส. มธ. ซึ่งผมเป็นรองประธาน ให้ไปประชุมร่วมกับผู้แทนนักศึกษาปีที่ 2 และ 3 เพื่อหารือกันว่า
ศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเพิ่งรับแต่งตั้งเมื่อราว 2 เดือนก่อนนั้น ท่านได้รับรางวัล "แมกไซไซ" ถามว่าเหล่าศิษย์คิดจะแสดงความยินดีต่อท่านอย่างไรดี
ผู้แทนนักศึกษาปีที่ 3 เสนอว่าให้เราจัดของขวัญของที่ระลึกปีละชิ้น โดยชั้นปีที่ 3 จะจัดกระเช้าใบใหญ่ ชั้นปีที่ 2 อย่าจัดซ้ำกัน ผมจึงเสนอว่าจะแต่งกลอนสดุดีท่านอาจารย์ ดร. ป๋วย
เรามีเวลาเพียง 5 วัน จะถึงกำหนดที่ท่านคณบดีจะมารับการแสดงความยินดีที่คณะ เพราะท่านมีตำแหน่งสำคัญเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอีกตำแหน่งด้วย
ถ้าเราซื้อเป็นของขวัญสำเร็จรูปก็จะง่ายดายใช้เวลาไม่กี่นาที ค่าของขวัญ 150 บาท เฉลี่ยคนละบาทเดียว แต่ที่ผมเสนอแต่งกลอน ก็เพราะผมเป็นรองประธานชุมนุมวรรณศิลป์ แต่ลืมนึกไปว่าตนเองถนัดแต่งโคลงสี่สุภาพ แต่งกลอนไม่ได้เรื่อง แต่เพื่อให้ท่านอาจารย์ชื่นใจ เมื่อได้ฟังบทกลอนซึ่งท่านเองเป็นศิษย์แต่งร้อยกรองของภราดา ฟ. ฮีแลร์ ท่านจึงแต่งได้ทั้งโคลงฉันท์กาพย์กลอน
ผมเค้นสมองกลวงๆ แต่งกลอนสดุดีได้ 5 บท ส่งให้เพื่อนที่มีความสามารถในการใช้พู่กันเขียนอักษรวิจิตร นำไปเขียนลงกระดาษสีสวยๆ ใส่กรอบแบบกรอบรูป คุณ(ประ)ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ รับภาระไปดำเนินการโดยจ่ายเงินไม่ถึง 50 บาท
ครั้นพิธีแสดงความยินดี ท่านอาจารย์เลขานุการคณะกล่าวนำ และมอบของขวัญเสร็จก็เชิญผมอ่านกลอน ท่านอาจารย์และนักศึกษานิ่งฟังเงียบเรียบร้อยจนจบ เสียงปรบมือกราวใหญ่ ผอ่านเสร็จก็ชวนเพื่อนผู้แทนทั้ง 5 คนของรุ่นปี 2 มอบบทกลอน ท่านถามว่าใครแต่ง ผมตอบว่าผมแต่งเองครับ
ผมเป็นนักศึกษาที่ "ไม่เอาถ่าน" คือ ใช้เวลาเกือบทั้งวันอยู่ที่สโมสรเตรียมและจัดกิจกรรมต่างๆ แต่ประหลาดที่เพื่อนร่วมรุ่นก็ยังเลือกตั้งเป็นหนึ่งในห้าของผู้แทนชั้นจนถึงปีที่ 4 (แต่ผมเรียนจบ 5 ปีครึ่ง) ดังนั้น จึงมีโอกาสได้พบท่านคณบดี ดร. ป๋วย ในกิจกรรมของคณะปีละ 2 - 3 ครั้งเท่านั้น
ผมจบปริญญาตรี ไปรับราชการกระทรวงพาณิชย์ในต่างจังหวัด จนกระทั่งปี 2519 เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ทำให้ท่านอาจารย์ ดร. ป๋วย ประสบเคราะห์กรรมจากความบ้าคลั่งทางการเมืองจนต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ผมและครอบครัวก็ได้แต่เศร้าสลดสะเทือนใจ และเศร้ามากขึ้นอีกใน 3 - 4 ปีต่อมาเมื่อมีข่าวว่าท่านป่วยเส้นเลือดแตกจนกลายเป็นอัมพฤกษ์มือขวาใช้การไม่ได้ ที่ร้ายสุดคือพูดไม่เป็นถ้อยคำปกติ
ปี 2525 ปลายกันยายน ผมเป็นพาณิชย์จังหวัดชลบุรี ซึ่งตอนนั้นเป็น "ศูนย์ของการผลิตแปรรูปและส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง" ขณะนั้นมีปัญหามาก ผมจึงพยายามศึกษาจนครบวงจรและชวนพ่อค้าจากชลบุรีใช้เงินส่วนตัวไปดูงานการนำเข้าและการใช้มันสำปะหลังในยุโรป
รศ. ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สนใจมากจึงขออนุมัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปในคณะของเราด้วย เมื่ออยู่ดูงานที่กรุงลอนดอนเสร็จ เย็นนั้น ดร. เจิมศักดิ์บอกว่าขอสละสิทธิ์ไม่ไปกินที่โซโห และดูโชว์ เพราะจะแยกไปเยี่ยมอาจารย์ ดร. ป๋วย ผมจึงตาม ดร. เจิมศักดิ์ไป โดยนั่งรถไฟออกชานเมืองราว 7 สถานี ก็ไปถึงที่พักของท่านซึ่งเป็นทาวน์เฮาส์ 2 ชั้นเล็กๆ
ดร. เจิมศักดิ์รายงานว่า "คุณศุภกิจ ศิษย์เก่ารุ่นแรกๆ ที่ท่านเป็นคณบดี" ผมเสริมว่าที่แต่งกลอนให้ท่านเมื่อครั้งรับรางวล "แมกไซไซ" ท่านเพ่งหน้าผมแล้วพยักหน้าแสดงอาการว่า "จำได้ๆ" แต่ผมไม่มีอะไรจะสนทนา ในขณะที่ ดร. เจิมศักดิ์ ซึ่งเป็นทั้งศิษย์ใกล้ชิดและเป็นอาจารย์เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จึงมีเรื่องเล่ามากจนเวลาสมควร เราถ่ายรูปกับท่านไว้ก่อนกลับไปโดยรถไฟอีกขบวนหนึ่ง
ต่อมาอีกหลายปี ขณะผมมาทำงานเป็น "ผู้ตรวจการพาณิชย์" ในกรุงเทพฯ ได้รับการแต่งตั้งจากศาสตราจารย์ คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ร่วมเป็นคณะกรรมการจัดงานฉลองอายุ 70 ปี ของศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผมทั้งดีใจที่มีโอกาสได้ฉลองพระคุณและแปลกใจว่าข้าราขชการเล็กๆ ที่อยู่ใน "กรุ" เหตุใดจึงได้รับแต่งตั้งด้วย
ในการประชุมครั้งแรก ท่านอธิการบดีได้ให้กรรมการแนะนำตัวเองก่อนเริ่มวาระต่อไปจนปิดประชุม ผมก็ตรงไปยังประตู แต่มีอาจารย์สตรีอาวุโสกว่าผมยืนดักอยู่ถามเชิงปรารภว่า
"คุณใช่ไหม ศุภกิจ นิมมานนรเทพ ที่แต่งกลอนแมกไซไซให้อาจารย์ ดร. ป๋วย"
ผมรับคำอย่างงงๆ สงสัยว่าทำไมอาจารย์ท่านนี้ซึ่งผมไม่รู้จัก แต่กลับรู้ว่าผมแต่งกลอนนั้นซึ่งผมเชื่อว่าเพื่อนนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ทั้งคณะที่อยู่ในเหตุการณ์ผมอ่านกลอนสดุดีท่านอาจารย์ ดร. ป๋วย ก็คงจำได้สัก 2 - 3 คน
ท่านอาจารย์สตรี ยื่นนามบัตรให้ผมและไขความว่า "หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาแล้ว พี่ไปช่วยกันเก็บของส่วนตัวในห้องอธิการบดีที่อาจารย์ป๋วยเคยทำงาน ก็ไม่ค่อยมีสมบัติอะไรมากหรอกนะ แต่กลับมีบทกลอนที่คุณแต่งให้ท่านนั้น ตั้งอยู่บนโต๊ะทำงาน พวกเราได้เก็บรวมใส่กล่องไปมอบให้ลูกชายท่านรับไปแล้ว....คุณจำบทกลอนนั้นได้ไหม จะได้คัดมาแสดงในวาระนี้อีกน่ะ...." เวรกรรม ผมจำไม่ได้ แต่จำได้ว่าผู้ที่สนทนากับผมคือ (พี่) รศ. จำเรียง ภาวิจิตร ผู้อำนวยการสำนักเสริมศึกษาและบริการสังคมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะท่านให้นามบัตรแก่ผมด้วย
วันที่ 13 มกราคม 2559 คุณทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ บอกผมและเพื่อนๆ ว่าให้นำเหตุการณ์หรือนาทีประทับใจที่แต่ละคนมีต่อท่านอาจารย์ ดร. ป๋วย มาเล่าสู่กันฟังในวาระ 100 ปี ชาตกาลของท่านในปีนี้ เขาบอกให้ผมรำลึกถึงกลอนสดุดีที่แต่งให้ท่านนั้นนำมาอ่านให้คนฟังด้วย โธ่....52 ปีแล้ว ผมจำได้เลาๆ เพียงบทแรกกับบทท้าย คือ
⊙ อยากจะให้ โลกนั้น เป็นฉันนี้
คือคนดี ทำดี คนเห็น
แล้วเชิดชู เทิดผลงาน ท่านบำเพ็ญ
เพื่อจะเป็น ตัวอย่าง สร้างคนดี
ฯลฯ บทที่ 2-3-4 เป็นเรื่องราวในช่วงนั้น
⊙ อยากจะให้ โลกนั้นเป็น เช่นวันนี้
คือคนดี รับชูเชิด เทิดสรรเสริญ
ยกย่องงาน มีคุณค่า ยิ่งกว่าเงิน
โลกเจริญ ด้วยคุณธรรม นำโลกเอย
▪---------------------------------------------------------------------------▪
หลังเกษียณ ผมบรรยาย/สอนฝึก "พลังลมปราณ" เพื่อฟื้นฟูสุขภาพ ให้แก่ผู้สนใจเข้าฟังฟรี มีหนังสือคู่มือแจกฟรี เฉพาะที่สำนักเสริมศึกษาและบริการสังคม ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่ 2543 จนบัดนี้ สิบปีแรกผมบรรยายทุกเดือนเพราะมีคนสนใจมาก โดยเฉพาะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย
ครั้งแรก ผมรับเชิญมาบรรยาย/สอนให้แก่พนักงานฝ่ายบัญชี จัดที่บางขุนพรหม ต่อมาอีก 3 ครั้ง เชิญให้ผมไปกับคณะซึ่งไปจัดสัมมนาที่หัวหิน ครั้งละนับร้อยคน ผมคิดว่าคงหมดคนสนใจแล้ว แต่อีกเดือนเศษ คุณวิไล ผู้ประสานงานได้โทรศัพท์จองคิวบรรยายว่า ยังมีผู้สนใจอีกหลายสิบคนที่ไปกับกอง/ ฝ่ายไม่ได้ ขอให้จัดบรรยายที่บางขุนพรหม ผมถือว่าการไปบรรยายที่นี่ เสมือนได้ทดแทนพระคุณท่านอาจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในอุมคติของทุกคน ผมจึงขอให้คุณวิไลแจ้งจำนวนผู้สมัครเข้าฟัง เพื่อผมจะนำหนังสือฯ คู่มือฝึก "พลังลมปราณ" ไปแจกให้ครบทุกคน ช่วงแรกคุณวิไล บอกว่า "สัก 100 เล่มก็พอค่ะ" ต่อมาแจ้งเพิ่มอีกๆ จนถึงวันที่ผมมาบรรยาย คุณวิไลโทรศัพท์ "ขอ 500 เล่มค่ะ"
ขณะที่ผมเดินตามผู้ประสานงานไปยังห้องบรรยาย เธอเล่าว่า "ผู้สนใจเพิ่มขึ้นๆ ต้องเปลี่ยนห้องบรรยายให้มีที่นั่งพอเพียงจนที่สุดยอดผู้ฟัง 400 กว่าคน จึงต้องใช้ห้องประชุมใหญ่ 500 ที่นั่ง ผมชะงักอยู่หน้าประตูเข้าห้อง เพราะป้ายหน้าห้องคือ "ป๋วย อึ๊งภากรณ์" มีภาพเหมือนของท่านอยู่หน้าเวที
ผมตื้นตันใจมาก หากใครสังเกตคงได้ยินเสียงผมสั่น เพราะผมพึมพำพูดขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่เมตตาให้รางวัลที่มีค่าสูงสุดแก่ชีวิตผม คือ การได้ขึ้นเวทีไปเป็นวิทยากรใน "ห้องประชุม ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์" ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม ผมจึงซึ้งใจว่าด้วยจิตวิญญาญของท่าน แม้ศิษย์จะเรียน "โหลยโท่ย" แต่ถ้าทำความดีมีค่าต่อสังคม ท่านก็มอบรางวลให้ ดังรางวัลที่ผมได้ในครั้งนั้น ทำให้ตื้นตันตลอดชีวิต